เกรียงไกร ปริญญาพล http://www.kkppn.com

รองอำมาตย์โท  พระบริบาลศุภกิจ  ( คำสาย  ศิริขันธ์ ) 

 

                                                                                     
 

          รองอำมาตย์โท  พระบริบาลศุภกิจ  ( คำสาย  ศิริขันธ์ )  เป็นบุตรของพระเสนาภักดี  ( ขันธ์ )  กับ  นางพรหมมา  เป็นหลานปู่ของพระศรีวรราชหรือเพียสีสุวงษ์  ( รี ) กับนางที  และเป็นเหลนของเพียสีหาเทพ  ( ศรี )  อดีตข้าราชการเมืองสกลนคร       เกิดเมื่อปีจอ  จัตวาศก  จุลศักราช  ๑๒๒๔  รัตนโกสินทร์ศก   ๘๑   ตรงกับวันที่  ๒๘  เมษายน  พุทธศักราช  ๒๔๐๕    คุ้มวัดศรีสระเกษ  ตำบลธาตุเชิงชุม  ( เดิมชื่อตำบลสะพานหิน )  อำเภอเมือง  จังหวัดสกลนคร  ถึงแก่กรรมวันที่  12  พฤษภาคม  ๒๔๘๐

 

 

 

 

 

 

                                             ๑๐๒/๔  ถ. สุขเกษม  อ.เมือง   จ.สกลนคร 

 

 

๑๗  พฤษภาคม  ๒๕๔๗ 

 

เรื่อง     ขอเชิญร่วมทำบุญบรรจุอัฐิอนุสาวรีย์ รองอำมาตย์โท พระบริบาลศุภกิจ
           ( คำสาย  ศิริขันธ์ )

  

เรียน 

 

            ด้วย  รองอำมาตย์โท  พระบริบาลศุภกิจ  ( คำสาย  ศิริขันธ์ )  ซึ่งเป็นต้นตระกูล  “ ศิริขันธ์ ”  อดีตเพี้ยซาเนตร  และเมืองขวา  อักษรเลข  ( พ.ศ. ๒๔๓๔ – ๒๔๔๒ )  สัสดีเมืองสกลนคร  ( พ.ศ. ๒๔๔๒ – ๒๔๕๐ )  ผู้พิพากษาศาลบริเวณเมืองสกลนครซึ่งปัจจุบันคือตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด ( พ.ศ. ๒๔๔๕ – ๒๔๕๐ )  นายอำเภอเมืองวาริชภูมิ  ( พ.ศ. ๒๔๕๐ – ๒๔๕๖ )  นายอำเภอเมืองไชยบุรี ( พ.ศ. ๒๔๕๖ – ๒๔๖๐ )  ปัจจุบันยุบเป็นตำบลไชยบุรีขึ้นกับอำเภอท่าอุเทน  จังหวัดนครพนม  และกรมการพิเศษเมืองสกลนคร  ( พ.ศ. ๒๔๖๐ – ๒๔๘๐ )  ถึงแก่กรรม  วันที่  ๑๒  พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๔๘๐  เป็นเวลากว่า  ๖๖  ปีแล้วที่ยังมิได้นำอัฐิของท่านบรรจุแต่อย่างใด

            บัดนี้ทายาทชั้นเหลน  ได้ดำเนินการก่อสร้างอนุสาวรีย์ท่านขึ้นที่วัดศรีสระเกษ  ถนนสุขเกษม  เขตเทศบาลเมือง  อำเภอเมือง  จังหวัดสกลนคร  ซึ่งเป็นวัดที่พระศรีวรราชหรือเพียสีสุวงษ์  ( รี )  ปู่ของท่านได้อุทิศที่ดินส่วนตัวให้เป็นที่ธรณีสงฆ์และก่อสร้างเสนาสนะในวัด  รวมตลอดทั้งรองอำมาตย์โท  พระบริบาลศุภกิจ  ( คำสาย  ศิริขันธ์ )  ได้ก่อสร้างอุโบสถประจำวัดขึ้นเมื่อ  พ.ศ. ๒๔๕๐  ซึ่งถือได้ว่าวัดศรีสระเกษเป็นวัดที่ตระกูล  “ ศิริขันธ์ ”  เป็นผู้สร้างและให้ความอุปถัมภ์ตลอดมา  โอกาสดังกล่าวนี้  ทายาทชั้นเหลนได้นำอัฐิของท่านและภรรยาคือ  นางบริบาลศุภกิจ  ( บัว  ศิริขันธ์ )  ตลอดทั้งทายาทชั้นบุตรและหลานนำเข้าบรรจุภายในอนุสาวรีย์ด้วย

            ดังนั้น  จึงขอเรียนเชิญท่านร่วมทำบุญบรรจุอัฐิของรองอำมาตย์โท  พระบริบาลศุภกิจ  ( คำสาย  ศิริขันธ์ )  ณ วัดศรีสระเกษ  ในวันเสาร์ที่  ๒๒  พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๕๔๗  ตามเวลา  ดังนี้

            ๑๐.๓๐  น.  เจริญพระพุทธมนต์และบังสุกุลหน้าอนุสาวรีย์

            ๑๑.๐๐  น.  ถวายภัตตาหารเพลแด่ภิกษุสงฆ์

                           เสร็จพิธีขอเชิญรับประทานอาหารร่วมกัน

 

 

 

ขอแสดงความนับถือ

 

                                 นางบัวทอง              ศิริขันธ์                              
                                 นางสาวลักษณา        ศิริขันธ์

                                 นางนันทกา              อาจหาญ                       

                                 นางสาววนิดา           ศิริขันธ์                
                                
นางสาวสุภาวดี         ศิริขันธ์

                                 ดร. เกรียงไกร           ปริญญาพล

                                 นางสาวจีระวรรณ       ศิริขันธ์             

                                 นายณรงศักดิ์            ศิริขันธ์

 

 

 

เรียนท่านผู้มีเกียรติและญาติพี่น้องทุกท่าน

 

 

            สำหรับนายจารึก  ปริญญาพล  ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู  ( ชั้นเหลน )  ซึ่งจะเป็นประธานในวันนี้นั้น  ไม่สามารถเดินทางมาได้  เนื่องจากติดภารกิจทางราชการที่สำคัญมาก  โดยต้องไปเป็นประธานในงานบุญบั้งไฟประจำปีของจังหวัดหนองบัวลำภู  และเป็นประเพณีที่งานดังกล่าวนี้  ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกท่านที่ดำรงตำแหน่งจะต้องเป็นประธาน  การมอบหมายให้บุคคลอื่นแทนนั้นยังไม่มีผู้ว่าราชการจังหวัดท่านใดปฏิบัติมาก่อน  จึงเรียนมาเพื่อทราบ.

           

 

ลำดับพิธี

 

            (๑)  คุณตาเทียม  ศิริขันธ์  อายุ  ๘๙  ปี  ( ชั้นหลาน )  ประธานคุ้มศิริขันธ์  จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย

            (๒)  ไหว้พระรับศีล

            (๓)  อาราธนาพระปริตร

            (๔)  พระสงฆ์จำนวน    รูป  เจริญพระพุทธมนต์

            (๕)  ดร. เกรียงไกร  ปริญญาพล  ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร  (ชั้นเหลน)  ตัวแทนเจ้าภาพ  จุดเครื่องทองน้อยบูชาอัฐิรองอำมาตย์โท  พระบริบาลศุภกิจ  (คำสาย  ศิริขันธ์)

            (๖)  เจ้าภาพขอเรียนเชิญนายมงคลรัตน์  ปิยะนันท์   ผู้อำนวยการสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร  เป็นผู้อ่านคำสดุดี  รองอำมาตย์โท  พระบริบาลศุภกิจ  ( คำสาย  ศิริขันธ์ )

            (๗)  เชิญญาติตามลำดับถวายปัจจัยและเครื่องไทยธรรม

            (๘)  บังสุกุล

            (๙)  ประธานกรวดน้ำ

            (๑๐)  พระสงฆ์อนุโมทนา

            (๑๑)  พระสงฆ์ฉันภัตตราหาร

            (๑๒)  การแสดงต่าง ๆ

 

 

 คำสดุดี  รองอำมาตย์โท  พระบริบาลศุภกิจ  ( คำสาย  ศิริขันธ์ )

( ร่างโดย ดร. เกรียงไกร  ปริญญาพล   อ่านโดยนายมงคลรัตน์  ปิยะนันท์ )

 

      รองอำมาตย์โท  พระบริบาลศุภกิจ  ( คำสาย  ศิริขันธ์ )  เกิดเมื่อวันที่  ๒๘  เมษายน  ๒๔๐๕    คุ้มวัดศรีสระเกษ  เป็นบุตรของพระเสนาภักดี  ( ขันธ์ )  กับนางพรหมมา  โดยเริ่มรับราชการดังนี้

            พ.ศ. ๒๔๒๐  เป็นเสมียนเมืองสกลนคร

            พ.ศ. ๒๔๒๘  เป็นเพี้ยซาเนตร  และร่วมกับราชวงศ์ฟอง  คุมกำลังไพร่พลเมืองสกลนครจำนวน  ๒๐๐  คน  ไปตั้งกองรักษาที่บ้านนากระแด้งเชิงเขาอาดแขวงเมืองภูวดลสอางหรือสว่างต่อเขตเมืองคำเกิด – คำม่วน  ( ปัจจุบันอยู่ในเขตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว )  ด้วยเหตุเจ้าฟ้าหงี่เวียนเนียนเจ้าเมืองพูชุนแข็งข้อต่อฝรั่งเศสจะกู้อิสรภาพคืน  แต่ถูกฝรั่งเศสปราบปรามจึงพาครอบครัวและไพร่พลหลบหนีจะเข้ามาอาศัยในเขตบ้านบ่อคำแฮ  แขวงเมืองภูวดลสอางหรือสว่างซึ่งเป็นเขตพระราชอาณาจักรไทยเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าฟ้าหงี่เวียนเนียนและไพร่พลล่วงล้ำเข้ามาอาศัยในพระราชอาณาเขต  ได้ตั้งกองกำลังรักษาอยู่    เดือน  เมื่อเห็นว่าเหตุการณ์สงบจึงยกกำลังกลับเมืองสกลนคร

            พ.ศ. ๒๔๓๔  เป็นเมืองขวา  อักษรเลข

            พ.ศ. ๒๔๔๒  เป็นพระบริบาลศุภกิจ  และดำรงตำแหน่งสัสดีเมืองสกลนคร

            พ.ศ. ๒๔๔๕  เป็นผู้พิพากษาศาลบริเวณเมืองสกลนครซึ่งปัจจุบันคือ  ตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด  โดยมีนายมากเป็นผู้พิพากษารอง

            พ.ศ. ๒๔๕๖  ได้รับโปรดเกล้าฯ  ให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอเมืองวาริชภูมิ

            พ.ศ. ๒๔๕๖  ได้รับโปรดเกล้าฯ  เป็นนายอำเภอเมืองไชยบุรี  ซึ่งปัจจุบันเมืองไชยบุรียุบเป็นตำบลขึ้นกับอำเภอท่าอุเทน  จังหวัดนครพนม

            พ.ศ. ๒๔๖๐  ลาออกจากราชการด้วยเหตุรับราชการนาน  และได้รับแต่งตั้งเป็นกรมการพิเศษเมืองสกลนคร

            ในช่วงระหว่างที่รองอำมาตย์โท  พระบริบาลศุภกิจ  ( คำสาย  ศิริขันธ์ )  ยังมีชีวิตอยู่นั้นท่านเป็นบุคคลที่สนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่งและเป็นกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่เพียงไม่กี่ท่านที่สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้เป็นอย่างดี  ส่วนมากในสมัยนั้นจะอ่านและเขียนอักษรลาวได้เท่านั้น  เนื่องจากหัวเมืองอีสานตอนบนขนบธรรมเนียมและประเพณีตลอดจนตำแหน่งหน้าที่ของทางราชการบางส่วนยังคงใช้แบบอย่างของอดีตพระราชอาณาจักรลาวอยู่

            เมื่อคราวครั้งท่านดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองไชยบุรี  ท่านได้สืบค้นประวัติความเป็นมาของชาวเมืองท่าอุเทนจนสามารถตรวจพบ   “ ศิลาจารึก ”   เรื่องราวต้นตระกูลของชาวเมืองท่าอุเทนที่เป็นผู้สร้างวัดไตรภูมิและสร้างเมืองไชยบุรี  ท่านได้ตรวจพบศิลาจารึกซึ่งเป็นอักษรธรรมอันเป็นภาษามคธและได้ถอดเป็นภาษาไทยไว้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่  ๑๖  สิงหาคม  ๒๔๕๗  นับเป็นหลักฐานสำคัญที่สุดที่จะอ้างอิงได้ทางประวัติศาสตร์  ( ขณะนี้เก็บรักษาไว้ในโบสถ์วัดไตรภูมิ )  บรรดานักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต่อ ๆ  มาต่างอ้างอิงหลักฐานที่ท่านได้ค้นคว้าไว้แล้วทั้งสิ้น  เช่น  หนังสือประวัติศาสตร์อีสานของ  เติม  วิภาคพจนกิจ  การปฏิรูปมณฑลอีสานตอนเหนือของศาสตราจารย์   ไพฑูรย์  มีกุศล  เป็นต้น

            เมื่อ  พ.ศ. ๒๔๖๐  พระสุนทรธนศักดิ์  ปลัดมณฑลอุดรซึ่งมาทำหน้าที่ข้าหลวงเมืองสกลนครในสมัยนั้น  ได้แต่งตั้งกรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่รอบรู้เรื่องราวเมืองสกลนครขึ้นคณะหนึ่งจำนวน    ท่าน  เพื่อตรวจค้นเรื่องราวเมืองสกลนคร  แล้วทำการเขียนส่งไปยังกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพฯ  กรรมการ    ใน    ท่านนี้  มีรองอำมาตย์โท  พระบริบาลศุภกิจ  ( คำสาย  ศิริขันธ์ )  ร่วมอยู่ด้วย  ท่านมีบทบาทในการเขียนเรื่องเมืองสกลนครในอดีตมาก   เพราะมีความความรู้ทั้งภาษาไทยและภาษาลาวเป็นอย่างดี   ต่อมาหนังสือเขียนฉบับนี้นายเตียง  ศิริขันธ์  อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนครหลายสมัยและอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวงผู้เป็นหลานชาย   ได้จัดพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกในงานนมัสการพระธาตุเชิงชุม  วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร  จังหวัดสกลนคร  เมื่อ  พ.ศ. ๒๔๙๓  ซึ่งเรียกว่า   “ พงศาวดารเมืองสกลนครฉบับพระบริบาลศุภกิจ ( คำสาย  ศิริขันธ์ ) ”   และพงศาวดารฉบับนี้ได้รับการยกย่องและเชื่อถือจากนักวิชาการประวัติศาสตร์ในรุ่นหลัง ๆ   เป็นอย่างมาก   มีการเขียนวิทยานิพนธ์หรือรายงานทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอีสานเกี่ยวกับจังหวัดสกลนครนักวิชาการจะอ้างอิงพงศาวดารฉบับนี้อยู่เสมอ  ด้านศาสนานั้น  เมื่อ  พ.ศ. ๒๔๕๐  ท่านได้ก่อสร้างอุโบสถประจำวัดศรีสระเกษ   ทั้งนี้วัดศรีสระเกษแห่งนี้พระศรีวรราชหรือเพียสีสุวงษ์  ( รี )   ปู่ของท่านได้อุทิศที่ดินส่วนตัวให้เป็นที่ธรณีสงฆ์และสร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อ  พ.ศ. ๒๔๙๓  พร้อมสร้างเสนาสนะประจำวัด   ดังนั้นจึงถือได้ว่าวัดศรีสระเกษเป็นวัดที่ตระกูลศิริขันธ์เป็นผู้สร้างและอุปถัมภ์ตลอดมา

            เมื่อ  พ.ศ. ๒๔๖๑  พระเจดีย์วัดพระธาตุเชิงชุมและหลวงพ่อพระองค์แสนชำรุด  ท่านได้เป็นนายงานนำลูกจ้างและชาวบ้านทำการซ่อมเสร็จแล้วได้บอกบุญปิดทองพระเจดีย์และหลวงพ่อพระองค์แสน  สิ้นเงิน  ๙๔๒  บาท  ๔๖  สตางค์  จะปรากฏชื่อของท่านและคณะทำงาสลักไว้ด้านหลังหลวงพ่อพระองค์แสนเป็นภาษาขอมโบราณจนถึงปัจจุบันนี้

            เมื่อ  พ.ศ. ๒๔๖๘  ท่านได้เป็นนายงานนำชาวบ้านทำการขยายรั้ววัดพระธาตุเชิงชุมด้านทิศเหนือและด้านทิศตะวันออกให้เป็นเขตวัดพระธาตุเชิงชุมตามคำสั่งนายอำเภอธาตุเชิงชุมฉบับที่  ๒/๒๔๖๘  ลงวัน  ๑๖  กรกฎาคม  ๒๔๖๘

            เมื่อ  พ.ศ.  ๒๔๕๘  ขณะดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองไชยบุรี  ท่านได้ขอจดทะเบียนนามสกุล  ซึ่งต่อมาศาลาว่าการมหาดไทยได้มีหนังสือที่  ๑๔๑  ลงวันที่ ๓๑  ธันวาคม  ๒๔๕๘  ประทับตราและลงนามโดยมหาอำมาตย์ตรี  พระยาอมรฤทธิธำรง  อนุญาตให้  พระบริบาลศุภกิจ  ( คำสาย )   บิดาคือพระเสนาภักดี  ( ขันธ์ )   ปู่คือ  พระศรีวรราช  ( รี )    และทวดคือ  เพียศรีหาเทพ  ( ศรี )   จดทะเบียนนามสกุลว่า   “ ศิริขันธ์ ” 

            ดังนั้นญาติพี่น้องในตระกูลศิริขันธ์ไม่ว่าจะเป็นบุตรหลานที่เป็นหญิงได้สมรสและใช้นามสกุลตามสามีไปแล้วก็ตาม   ต่างถือว่าท่านเป็นต้นตระกูลศิริขันธ์  จนกระทั่ง  เมื่อวันที่  ๑๒  พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๔๘๐  ท่านได้ถึงแก่กรรมขณะอายุได้  ๗๕  ปี   บุตรหลานได้เก็บอัฐิไว้เป็นเวลา  ๖๗  ปี  แล้วยังมิได้บรรจุ  มาบัดนี้  ทายาทชั้นเหลนเห็นเป็นเวลาอันสมควรและเหมาะสม  จึงได้ดำเนินการก่อสร้างอนุสาวรีย์และนำอัฐิของท่านบรรจุไว้ในวันนี้.

 

__________________________

 

( ขอได้รับความขอบคุณและปรารถนาดีจาก www.kkppn.com )

 



Online: 1 Visits: 261,102 Today: 5 PageView/Month: 793