เกรียงไกร ปริญญาพล http://www.kkppn.com

 

                 างอนงค์ ตงศิริ   หรือหลายคนเรียกท่านด้วยความเคารพยกย่องว่า  “คุณแม่อนงค์”  ต่างทราบกันเป็นอย่างดีว่า  ท่านเป็นคหบดีที่มีคุณธรรม  เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในด้านการค้าขาย  บรรพบุรุษของท่านซึ่งอยู่ในสายสกุล  “โมราษฎร์”   ได้มีโอกาสปรนนิบัติพระอริยสงฆ์หลายรูปต่อเนื่องตลอดมาจนถึงตัวท่านเอง  อาทิ  หลวงปู่มั่น  ภูริทัตโต  หลวงปู่สิม  พุทธาจาโร  หลวงปู่เทศก์  เทศรังสี  ภายหลังจากสามีซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1 สกลนคร  ได้ถึงแก่กรรมแล้ว    ท่านได้สืบสานอุดมการณ์ทางการเมืองต่อไป  ท่านหาเสียงจากพี่น้องประชาชนด้วยความสุภาพ   จริงใจที่จะเป็นตัวแทนของประชาชนจนได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  เขต 1 สกลนครถึง  3  สมัย  และนับได้ว่าท่านเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงคนแรกของจังหวัดสกลนคร    ภายหลังจากท่านได้ยุติบทบาททางการเมืองแล้ว  แต่ท่านก็ยังคงบทบาททางสังคม   และด้านการศาสนาต่อเนื่องจนถึงแก่อนิจกรรม  (อนิจกรรม : เนื่องจากได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย  ประถมาภรณ์มงกุฎไทย)  

                หนังสือซึ่งพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ   ถือได้ว่าเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่ายิ่งในสมัยนั้นและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน  มีเนื้อหาสาระทั้งทางด้านประวัติศาสตร์  ศาสนา  และสังคมท้องถิ่นทั่วไป  ภาพประกอบภายในเล่มล้วนมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์   และภาพถ่ายงานศพของท่านนั้น   เครื่องราชอิศริยาภรณ์  จะวางบนพานเงินหรือโตกเงิน  3  ใบ  ศิลปะเชียงใหม่  สังคมที่คุ้นเคยกับท่านในสมัยนั้นต่างทราบกันเป็นอย่างดีว่าท่านเป็นบุคคลหนึ่งที่ชื่นชอบเครื่องเงินศิลปะทางภาคเหนือเป็นอย่างมาก   (สัมภาษณ์นางเสนาะจิต  กุลพิบูลย์หรือป้าตู๊  เลขที่ 189 ถนนใสสว่าง  อำเภอเมือง  จังหวัดสกลนคร)  ดังนั้น  เพื่อเป็นเกียรติแด่ท่าน  ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของจังหวัดสกลนคร  และเป็นเอกลักษณ์ของเว็บไซต์นี้ด้วยนั้น  www.kkppn.com  จึงได้นำบทความซึ่งพิมพ์ในหนังสือดังกล่าว  เรียบเรียงโดยท่านอาจารย์ผกา  ปรีชาญาน  ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเดียวกันกับบุตรชายคนโต  (นายประสาท  ตงศิริ)  เผยแพร่ในเว็บไซต์นี้  โดย  www.kkppn.com   คงข้อความตามอรรถรสเดิมไว้ทุกประการ   หากเพียงแต่เพิ่มเติมภาพประกอบซึ่งก็นำมาจากหนังสือฉบับดังกล่าวนั่นเอง.

 

 

 

 


 

สตรีเหล็กชาวภูไทจังหวัดสกลนคร

 

เรียบเรียงโดย  อาจารย์ผกา  ปรีชาญาณ

 

 

สตรีหนึ่งซึ้งค่าเก่งกล้าสู้ 

อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยหรือเมื่อยล้า 

แข็งแกร่งเกินมนุษย์สุดพรรณนา 

สู้ฟันฝ่าด้วยฃีวิตด้วยจิตใจ 

เป็นตัวอย่างสตรีที่เสริมสร้าง 

ช่วยทุกอย่างชีวิตนี้มีแค่ให้... 

เลิศค่าหญิงนักสู้ชาวภูไท 

เชิดชูไว้  “หญิงเหล็ก” เอก...อนงค์

 

 

  

            จากเด็กหญิงบ้านนอกชาวภูไท  มีชีวิตอยู่ตามท้องไร่ท้องนา  ได้ผกผันกลับกลายมาเป็นผู้หญิงแนวหน้าในระดับชุมชนขนาดใหญ่และระดับชาติในที่สุด  ด้วยมันสมองและสองมือ  สร้างชีวิตและครอบครัวอย่างทรหดอดทน  จนประสบความสำเร็จ  และเมื่อเบนเข็มมาเล่นการเมืองสืบทอดเจตนารมณ์ของสามี  ก็ได้รับแรงศรัทธาจากชาวสกลนครอย่างท่วมท้น  จนได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ติดต่อกัน  3 สมัย คาถาสำคัญที่หนุนส่งให้ได้รับความสำเร็จทุกอย่างในชีวิตคือ “อดทน  อดออม  อดกลั้น  พร้อมด้วยจิตใจที่กล้าแกร่ง” 

 

(14 เมษายน 2534 พิธีรดน้ำดำหัววันสงกรานต์)

 

(บายศรีสู่ขวัญ  เมื่อวันทำบุญอายุ 63 ปี ร่วมกับญาติ-มิตร 12 กุมภาพันธ์ 2536)

  

 

            สามารถที่จะกล่าวได้ว่า คุณแม่อนงค์  ตงศิริ คือ “สตรีเหล็ก” คนหนึ่งในสังคมไทย ด้วยชีวิตจิตใจที่เป็นนักสู้ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง  ด้วยการดำเนินชีวิตอยู่ในกรอบของศีลธรรมอันดีงาม  ด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดีในครอบครัว  จึงสมควรแก่การยกย่องเชิดชู   

             เราจะพาท่านผู้อ่านไปพบกับบุคคลใกล้ชิดกับชีวิตของคุณแม่อนงค์  ตงศิริ     

             คุณยายคำภา  และ คุณยายคำสอน เล่าว่า “เด็กหญิงอนงค์  โมราราษฎร์ (นามสกุลเดิม)  ในวัยเด็ก เป็นคนเลี้ยงง่าย  ฉลาด  ขยันขันแข็ง  ช่วยเหลืองานบ้านทุกอย่าง  พอโตขึ้นหน่อยรู้จักการทำมาค้าขายโดยใช้เวลาว่างหลังจากการเลิกเรียนหนังสือ  หาบเร่ขายสินค้าเล็กๆ น้อยๆ เช่น ปลาทู  ข้าวโพด  กล้วย อ้อย  มะเขือ   ได้กำไรมาก็ลงทุนซื้อสินค้าที่เห็นว่าจำเป็นมาเร่ขายต่อ  เมื่อมีกำไรมากก็อดออมเอาไว้ พอเข้าหน้าแล้งก็ปลูกพืชผักสวนครัว  ส่วนหนึ่งนำมาทำเป็นผักดอง  ซึ่งสังคมชนบทสมัยนั้นอยู่ด้วยการแลกเปลี่ยน  นำเอาผักดองไปแลกข้าวหมู่บ้านใกล้เคียง เช่น แลกข้าวบ้านหนองโดก  แลกเกลือบ้านไฮหย่อง  บ้านม่วงไข่  บ้านบะทอง”

 

(ณ อนุสรณ์สถานพระอาจารย์จวน กุลเชษโฐภูทอก จ.หนองคาย 18 ธันวาคม 2532)

 

( 8 พฤศจิกายน 2534 ตักบาตรร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด)

 

 

             ทองคำแท้หรือไม่เมื่อโดนไฟก็รู้  คนดีแท้หรือไม่ให้ดูที่เลี้ยงดูกตัญญูพ่อแม่  เป็นสัจจะแห่งชีวิตมนุษย์  พุทธพจน์ได้กล่าวเอาไว้ว่า “บุคคลใดไม่คำนึงถึงความหนาวร้อน อดทนให้เหมือนหญ้ากระทำกิจที่ควรทำด้วยเรี่ยวแรง  บุคคลนั้นย่อมไม่เสื่อมจากสุข” คุณแม่อนงค์มีหลักในการทำงานประกอบด้วย  ฉันทะ รักและเต็มใจทำ วิริยะ คือ ความเพียร  ความอดทน จิตตะ คือ เอาใจใส่  ตั้งใจทำ วิมังสา คือ เข้าใจทำด้วยปัญญา 

           คุณออมสิน  กองทรัพย์  ญาติผู้น้องที่เคยอาศัยอยู่ด้วยตั้งแต่ยังเด็กๆ กล่าวถึงคุณลักษณะของคุณแม่อนงค์ ว่า “พี่น้องเป็นคนขยันมาก  ไม่พูดมาก  ไม่งอแง  กลับจากโรงเรียนก็หาบเร่ขายสิ่งของต่างๆทั่วเมืองพรรณานิคม  ฤดูน้ำหลากเต็มฝั่งแม่น้ำอูน  ก็ไปยกยอเอาปลามาทำปลาร้า กลางวันไปโรงเรียนกลางคืนไปยกยอ  พอถึงตอนน้ำขอดก็ไปหากุ้งฝอยมาทำกะปิ  ทั้งยังดูแลแปลงผักโดยการหาบน้ำจากน้ำอูนขึ้นมารดผัก...พอโตเป็นสาว   พี่อนงค์เป็นสาวที่สวยมากจนนายอำเภอมาขอร้องให้ส่งเข้าประกวดเทพีอำเภอพ่อแม่ขัดใจนายอำเภอไม่ได้จึงอนุญาต  แต่คอยได้รับการขัดขวางจากพี่ชาย  เข้าประกวดเบอร์ 2  แต่พอเดินออกจากเวทีมีคนตะโกน  เบอร์ 1 หมายถึงคนนี้ คือที่ 1"

 

(ถ่ายรูปร่วมกับพี่สาวคุณวิไล ร่วมสมัคร และคุณป้าจารุวรรณ เนตรพรหม ในวันไปถวายพระประธาน วัดบ้านกกปลาซิว 11 เมษายน 2532)

 

(ไปร่วมเดินแฟชั่นการกุศลในงานกาชาดประจำจังหวัด)

 

          “พอแต่งงาน  ก็ช่วยพี่ประชาสามี  ทำมาค้าขายปรนนิบัติสามีและลูกๆเป็นอย่างดี  สอนให้ลูกรู้จักประหยัดอดออม  ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและญาติมิตร  มีน้ำใจและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่    ช่วยเหลือคนใครขาดแคลนเดือดร้อนก็ต้องมาพึ่งพี่นงค์  ญาติพี่น้อง  เจ็บไข้ได้ป่วย  จะติดตามถามไถ่ดูแล ทำอาหารใส่ปิ่นโตส่งเยี่ยม  ตอนที่แม่ป่วยได้เอาใส่ดูแลอย่างดียิ่ง  จนได้รับการยกย่องจากญาติๆ  และพ่อว่า ถ้าเกิดเป็นผู้ชายจะดีมาก  เสียดายเกิดเป็นผู้หญิง...สิ่งหนึ่งที่พี่นงค์ถือปฏิบัติตลอดมาคือการทำบุญ  มีชีวิตผูกผันอยู่กับวัดวาศาสนาตั้งแต่ยังเด็กเล็กจนถึงวัยชราและนาทีสุดท้ายของชีวิต"

         คุณวิไล  ร่วมสมัคร (พี่ยก)  พี่สาวของคุณแม่อนงค์   ได้พูดถึงน้องสาวว่า  “น้องสุดท้องคนนี้ ตอนเล็กขี้เหร่ พอโตเป็นสาวสวยงาม  เป็นคนหัวไว หรือหัวดี เสียแต่เรียนน้อยไปหน่อย เพราะต้องอยู่กับพ่อแม่  พี่ๆ ไปเรียนต่อกันหมด ชอบค้าขาย  อดทน ใจสู้ เหมือนกับแม่ เป็นคนประหยัด แต่ชอบช่วยเหลือเจือจานคนอื่น  แม้ไม่เอ่ยปาก  จนฉันเรียกว่า  ส.เสือใส่เกือก  ปฏิภาณไหวพริบดี  สังเกตได้จากการให้คำแนะนำปรึกษากับใครก็ตาม  จะถูกต้องตรงจุดดีมาก  และอีกอย่างชอบเข้าวัดทำบุญ   ขาดเขาก็เหมือนขาดผู้นำสำหรับการเข้าวัดเข้าวาทำบุญ”   

            คุณลุงวิลาศ  จันฤาชัย  อาเขย  (สามีนางประสิทธิ์  ลูกเรียงพี่เรียงน้อง)  เล่าขณะที่ป่วย  ว่า “เห็นนงค์มาตั้งแต่ยังเล็กๆ  เป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  ไม่เคยพูดจาระรานให้ใครเสียน้ำใจ  ใครเจ็บไข้ได้ป่วยจะเยี่ยมเยียนดูแล  จัดสำรับกับข้าวให้  แม้แต่ตอนที่นงค์ผ่าตัดกลับมายังมาเยี่ยมอา  ถามไถ่ด้วยความห่วงใยนับว่ายอดเยี่ยมจริงๆ  การจากไปของนงค์ทำให้อาลัยมาก  เพราะเป็นคนดี  อยู่ก็ได้กำไร  ไปก็ได้กำไร เพราะคนรักและศรัทธาในความดีงาม”   

            เป็นความจริงทีเดียวที่ว่า “หญ้าหรือฟางสำหรับจุดไฟหุงต้ม 1 ที่พักอาศัย 1 วาจาอ่อนหวาน 1 ย่อมไม่ขาดจากบ้านเรือนของสัตบุรุษ  ไม่ว่าเวลาใด”  ชีวิตคนก็เหมือนการเดินทาง  การครองตนให้อยู่ในสังคมมนุษย์ได้ด้วยความรักและเชื่อถือศรัทธานั้นต้องมีองค์ประกอบมากมาย 

            ไม่มีใครสามารถทำนายเส้นทางเดินของชีวิตตัวเองได้ว่า  วันหนึ่งจะทำหน้าที่ในฐานะและบทบาทอะไร  แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนสามารถกำหนดตัวเองได้  คือ  การเป็นคนมีปณิธานตั้งมั่น  ทำอะไรทำให้ดีที่สุด  แม้ว่าจะต้องเหนื่อยยากแสนเข็ญ หรือต้องต่อสู้กับอุปสรรคขวากหนามอย่างไรก็ตาม  จากสถานะแม่บ้านที่คอยปรนนิบัติสามีและเอาใจใส่เลี้ยงดูบุตรธิดา  ชีวิตของแม่อนงค์ได้เปลี่ยนแปลงไปอีกวิถีหนึ่งคือ  เส้นทางของนักการเมือง  โดยเฉพาะเวทีการเมืองของเมืองไทยที่ไม่มีสูตรตายตัวว่า จะต้องกำหนดบทบาทตัวเองในสังคมอย่างไร 

             ดังที่กล่าวแล้วว่า  ชีวิตก็เหมือนการเดินทาง  แม้จะเดินทางเป็นหมื่นไมล์  ก็ต้องเริ่มต้นจากก้าวเดียว 

 

 

(ทิวทัศน์บ้านพักของแม่ ที่ไร่ ต.เอราวัณ จ.เลย)

 

 

(4 ตุลาคม 2533 ทำบุญบ้านพัก ไร่เมืองเลย)

 

 

 

 

             คุณประสาท  ตงศิริ  ได้เล่าถึง   การเริ่มต้นสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแม่นงค์ว่า  “หลังจากสิ้นบุญคุณพ่อไปแล้ว  ท่านพิชัย  รัตตกุล  ได้เดินทางมาขอร้องให้คุณแม่ลงเล่นการเมืองต่อจากคุณพ่อให้แก่พรรคประชาธิปัตย์     ซึ่งคุณแม่หนักใจและหวั่นใจเพราะไม่ค่อยได้ลงสัมผัสพื้นที่จริงๆเลย  เพียงแต่คอยช่วยเหลือคุณพ่อ  เป็นตัวแทนอยู่ในบ้านเป็นส่วนใหญ่เพื่อรับปัญหา  ตอนนั้นคุณแม่เป็นสมาชิกสภาเทศบาล พอตัดสินใจลงสมัคร  ส.ส.  ก็ต้องเริ่มเดินทางไปตามหมู่บ้าน  พบปะชาวบ้าน  อาศัยวัดเป็นศูนย์รวม หลับนอนอยู่กินไม่เป็นเวลา  คุณแม่ไม่เคยห่วงตัวเอง  บางวันนอนแค่ 2-3 ชั่วโมง  ก็ต้องเดินทางต่อ ไม่เคยหยุด ไม่เคยถอย การเดินทางบางวันได้ 6-8 หมู่บ้าน บางวันก็ได้ถึง 14 หมู่บ้าน การหาเสียงในลักษณะนี้ในตอนนั้น  ไม่มีผู้สมัครคนไหนทำอย่างนี้ และไม่มีใครทำได้”   

             ต่อมาได้สนับสนุน  อาจารย์ทวีวัฒน์  ฤทธิ์ฤาชัย  เข้าร่วมทีมร่วมพรรคด้วย  จนประสบความสำเร็จ ตัวคุณแม่ได้เป็น ส.ส.ติดต่อกัน 3 สมัย และตั้งใจเอาไว้ว่าจะเลิกสมัคร ส.ส. หรือวางมือ  โดยหันไปสนับสนุน คุณจุมพฎ บุญใหญ่ เพื่อนร่วมรุ่นของผม และ คุณอภิชาต  ตีรสวัสดิชัย  ในที่สุด  

              คุณแม่อยากใช้ชีวิตอย่างสงบจึงไปซื้อที่ทำไร่ที่ จ.เลย  ที่นั่นอากาศดี ภูมิประเทศสวยงาม  อยู่ไม่นานทางพรรคประชาธิปัตย์ก็เลือกให้เป็นที่ปรึกษาสาขาพรรคฯ  และกรรมการบริหารพรรคฯ  แม้ว่าสภาพร่างกายตอนหลังจะมีปัญหาก็ยังคงเดินทางไปประชุมพรรคฯ และจนกระทั่งลมหายใจเฮือกสุดท้าย คุณแม่ยังถามถึงหัวหน้าพรรคคือ  ท่านนายกรัฐมนตรี ชวน  หลีกภัย

 

 

(พ่อและแม่  ขณะปฏิบัติหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร)

 

(งานศพหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ณ วัดดอบแม่ปั้ง จ.เชียงใหม่)

 

 

             อาจารย์ทวีวัตน์  ฤทธิ์ฤาชัย  อดีต  ส.ส. สกลนคร  ที่เคยเคียงบ่าเคียงไหล่กับแม่นงค์  ได้เล่าให้ฟังว่า   การดำเนินงานทางการเมืองของแม่นงค์เป็นแบบอย่างที่น่าจดจำ  ท่านเห็นชาวบ้านเหมือนลูกหลานสนิทคอยเป็นทุกข์เป็นร้อนและช่วยเหลือ  เมื่อเสร็จจากการประชุมสภาฯ  จะออกพบปะชาวบ้านแบบที่ชาวบ้านเรียกว่า  ค่ำไม่ได้ยืนคืนไม่ได้นอน  ถามว่าทำไมถึงไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย  ได้รับคำตอบว่า  ถ้าหยุดเมื่อไหร่จะป่วย  จึงไม่เคยเห็นหยุดออกออกพบชาวบ้านในตอนที่เป็นผู้แทนฯ   และไม่เคยเห็นป่วยไข้อะไรเลย.... 

             แม่นงค์สนใจและให้ความสำคัญทุกปัญหา   มีคราวหนึ่งราษฎรบ้านท่าวัด อำเภอเมืองสกลนคร  ร้องเรียนว่าน้ำหนองหารเน่าเสีย มีหอยคัน  วัวควายกินน้ำไม่ได้  คนจะลงไปอาบและนำน้ำขึ้นมาทำไร่ไถนาไม่ได้เพราะคันมาก  จึงเก็บหอยตัวอย่างไปพูดในสภา  จนเพื่อน  ส.ส.หยอกเย้าว่า  ส.ส.หอยคันจากการเรียกร้องและผลักดันของแม่นงค์  เป็นแรงสำคัญทำให้รัฐบาลจัดงบฯพัฒนาหนองหารในปัจจุบัน    นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง ในหลายร้อยหลายพันปัญหาที่ได้ทุ่มเทช่วยเหลือและแบกรับเอาไว้บนบ่า  จากบทบาทต่างๆ  ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและส่วนรวมมากมายนี่เองที่ทำให้ชาวประชาธิปัตย์เรียกว่าหญิงเหล็กอย่างสนิทใจ  ซึ่งตอนนั้นที่อังกฤษมีนายกรัฐมนตรีหญิง มากาเร็ดแทตเชอร์...

           แม่นงค์อยู่ประชิปัตย์แต่ดูเหมือนเป็นคนของทุกพรรค  เพราะไม่เคยขัดแย้งกับใครเลย  จึงเป็นที่รักนับถือของทุกคนและสำหรับพรรคประชาธิปัตย์  ท่านเป็นคนรักพรรคมาก  แม้จะเกิดปัญหาขัดแย้งภายในอย่างไรก็ไม่ทอดทิ้งพรรค  จะยึดพรรคเป็นหลักไว้เสมอเสียสละทุกอย่างเพื่อพรรค  จนได้รับการกล่าวขานว่า “สละชีพเพื่อพรรค”  เป็นตัวอย่างของสมาชิกพรรคการเมืองที่ควรแก่การยกย่องอย่างแท้จริง  

           นี่คือชีวิตของแม่นงค์  ซึ่งอยู่ในฐานะนักการเมืองที่โลดแล่นอยู่ท่ามกลางคมของปลายแส้เกียรติยศยึดมั่นอยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง  ไม่เคยทรยศหักหลังทิ้งพรรคทิ้งเพื่อน  เพื่อให้ตัวเองก้าวขึ้นไปสู่ความยิ่งใหญ่  

           ชีวิตคนเราที่โลดแล่นอยู่ในโลกกว้าง  ย่อมอยู่ในจอสายตาของเพื่อนมนุษย์ตลอดเวลา  คนอื่นมองออกว่าบุคคลคนนี้ควรได้กล่าวขานขนานนามว่าอย่างไร  โดยอาศัยบทบาทและอุปนิสัยใจคอเป็นพื้นฐานหรือตัวชี้วัด  คุณแม่อนงค์สมควรได้รับการกล่าวขานว่า “ สตรีเหล็ก ”  แค่ไหนเพียงใด  มาดูมุมมองของคนใกล้ชิดมาถึง 20 ปีเต็ม  เป็นญาติสนิท แต่คนๆ นี้นับถือคุณพ่อประชาและคุณอนงค์เหมือนพ่อแม่ที่แท้จริง 

            เขาคือ คุณสุนทร  (สุ่ม)  จันทร์ทองศรี  แห่งร้านสุ่มยานยนต์  เล่าไว้ยืดยาวว่า

            “ผมจบมหาวิทยาลัยชีวิตจากร้านศิริยนต์นี่เองใช้เวลาในการศึกษามาถึง 20 ปีเต็ม  คุณแม่พร่ำสอนให้รู้จักอดทน  อดกลั้น  อดออม  หามากใช้น้อย  เช่น  หาได้  500 บาท  ใช้จ่าย 15 บาท  หาได้ 1,000 บาท ใช้จ่าย 30 บาท....ตอนแต่งงานใหม่ๆ คุณพ่อทำงานเป็นวิศวกรรมรถไฟ  เห็นว่ามีรายได้น้อยจึงลาออก  มาซื้อรถเก่าวิ่งรับจ้าง  กลางวันวิ่งรับคนโดยสาร  กลางคืนซ่อมรักษา และต่อมาได้ขยายจำนวนมากขึ้น  มีการเพิ่มกิจการต่างๆ เช่น รับเหมาก่อสร้าง ทำโรงน้ำแข็งทำปั้มน้ำมัน  ขายเครื่องจักร  ขายเครื่องก่อสร้าง  ทำโรงเลื่อย  ขายรถจักรยานยนต์  และอะไหล่รถยนต์  รถจักรยานยนต์

 

(แม่เป็น สท. (สมาชิกสภาเทศบาลเมืองสกลนคร) ถ่ายคู่กับพ่อซึ่งเป็น ส.ส.ประชา ตงศิริ ปี 2519)

 

  

          คุณพ่อประชาเป็นคนริเริ่มกิจการใหม่ๆ ไปเรื่อยภาระการบริหารดูแลให้กิจการเดินหน้าไปได้ตกเป็นของคุณแม่อนงค์ทั้งหมด  คิดดูก็แล้วกันว่า  จะเหน็ดเหนื่อยยุ่งยากเพียงใด เพราะคนๆเดียวทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น แม่บ้าน,บริหารงานเลี้ยงลูก  ลูกน้อง ฯลฯ  แต่คุณแม่อนงค์ทรหดอดทนอย่างมากกิจการทุอย่างทำได้อย่างดี  เพราะการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ  ในระยะนั้นลูกๆ  ของท่านกำลังอยู่ในวัยเล่าเรียน  ยังไม่มีใครจบออกมา  จึงเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสเอาการกับการดูแลงานต่างๆ  ของแม่อนงค์ 

 

(รัฐสภาประเทศเยอรมันนี (กรุงบอนน์ 21 ตุลาคม 2529))

  

(ปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งครั้งสุดท้าย เมื่อปี 2529)

 

           ยิ่งตอนที่คุณพ่อประชาเริ่มเข้าสู่การเมือง  โดยลงสมัครรับเลือกตั้ง  ส.จ.  และ ส.ส. เมื่อปี  2512 คุณแม่อนงค์จึงกลายเป็นคนเหล็กไปโดยปริยาย  เพราะไหนจะดูแลกิจการ  ไหนจะดูแลลูก  ไหนจะคอยต้อนรับขับสู้ชาวบ้านและแก้ไขปัญหาต่างๆ  ให้เขา  ไหนจะคอยดูแลลูกน้องในกิจการต่างๆ  มันเป็นเรื่องที่เหนื่อยยากสาหัสจริงๆ แต่ท่านมีแรงฮึดและความอดทนอย่างมาก  ในขณะที่แบกรับภาระมากมาย  แทนที่จะทำให้สุขภาพจิตเสีย  แต่คุณอนงค์ยังคงรักษาคุณลักษณะแห่งความเมตตาเอ็นดูผู้อยู่ใกล้ชิด  และหน้าระรื่นตลอดเวลาในการต้อนรับขับสู้ผู้คน  ทั้งในเรื่องของกิจการและการต้อนรับชาวบ้านที่มาคอยให้ผู้แทนช่วยเหลือตื่นแต่เช้าทำกับข้าวกับปลา  ไปทำบุญที่วัด  แล้วมาคอยดูแลงานและต้อนรับแขก   

            คุณแม่ต้องคอยขึ้นโรงขึ้นศาลช่วยเหลือชาวบ้านแทนคุณพ่อประชา  ใครเจ็บไข้ได้ป่วยจะคอยดูแลหุงหาอาหารไปส่งไปเยี่ยม  ในแต่ละวันไม่มีเวลาเป็นตัวของตัวเองเลย  กล่าวได้ว่าไม่มีใครสามารถทำได้อย่างนี้ ผมอยู่กับท่านมา  ท่านเป็นห่วงเป็นใยคอยสั่งสอนในทางที่ดี   โดยเฉพาะความอดทน  เพราะคนเราจะพ้นทุกข์ได้เพราะความเพียรพยายาม  สมกับคำที่เขาว่างานหนักให้ผลตอบแทนคุ้มค่าเสมอ 

           การเอาใจใส่ต่อคนใกล้ชิดของท่าน  แม้แต่เรื่องเล็กน้อยท่านยังใส่ใจ  เช่น  ผมชอบแกงหน่อไม้ใส่ผักพื้นบ้านที่เรียกว่าผักสะแงง  แต่ท่านชอบใส่ผักสะแงะ  เวลาแกงจะปันส่วนเอาไว้ส่วนหนึ่งใส่ผักที่ผมชอบ  ในตอนที่ผมจะออกจากครอบครัวตงศิริ  หันมาทำกิจการเอง  ได้จัดการหาทำเลการค้า  การช่วยเหลืออื่นๆ  ที่มี ความจำเป็น เช่น  การก่อสร้าง  ที่ดิน  จนทำให้ผมได้มีวันนี้ได้  แม้จะออกจากบ้านท่านหลายปี  ท่านยังคอยดูแลด้วยความเป็นห่วง  อาหารการกินที่ชอบจะทำให้รับประทานบ่อยครั้ง  การจากไปของท่าน  ผมและครอบครัวรู้สึกเสียใจมาก 

             ท่านเป็นคนดี เป็นแบบอย่างของนักสู้ชีวิต   เป็นคนที่มีธาตุทรหดเกินตัว  คำยกย่องชมเชยต่างๆนั้นในความรู้สึกของผมแล้ว  ยังไม่สามารถเปรียบเทียบได้เลย  เมื่อรู้ความจริงจากการที่ได้อยู่กับท่านมานานเกือบครึ่งชีวิต”        

            เรื่องที่เราไม่สามารถรู้ได้ขณะยังมีชีวิตอยู่มี 5 ประการ คือ ความยืนยาวของชีวิต  พยาธิเจ็บไข้ได้ป่วย  กาลเวลาที่จะตาย  สถานที่ตาย  ภพที่จะไปเกิดจึงมีคำสอนพระพุทธศาสนาว่าไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาทได้หมั่นทำบุญกุศล  ทำจิตใจให้สงบและระลึกเสมอว่า  ชีวิตคนไม่ยืนยาว  การทำบุญสุนทานจึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำตลอด    

            คุณสรศาสตร์    จันฤาชัย  ญาติผู้น้องซึ่งเคยทำงานที่ร้านศิริยนต์เช่นกัน  เล่าว่า  “ ชีวิตประจำวันของพี่นงค์  จะตื่นตี 5 ไปตลาดซื้อของมาทำกับข้าว  เสร็จแล้วไปทำบุญที่วัด  กลับมาที่ร้าน  ประชาชนและญาติพี่น้องมาพบ  พาเขาไปทำธุระ  กลับมาตอนเย็นทำกับข้าวเอง  ถึงหน้าฝนจะซื้อปลาตัวเล็กมาทำปลาร้าปลาตัวใหญ่แกงใส่หน่อไม้  แกงอ่อม  ถ้ามีอึ่งอ่างก็นำมาต้มใส่ใบมะขาม  อาหารที่พี่นงค์ชอบคือต้มอึ่งอ่างและแกงหน่อไม้ส้มใส่ปลา  ซึ่งท่านจะทำหน่อไม้ส้มเอาไว้คราวละจำนวนมาก “ 

            คุณสุนทร  ศรีจันทร์  แห่งร้าน  ส.การยาง เล่าว่า  “ผมกับแม่นงค์  เคารพนับถือกันในทางญาติธรรม  เคยไปร่วมทำบุญด้วยกันบ่อยครั้ง  ท่านเป็นคนมีเมตตาเอื้ออารีต่อผู้คน  ผมนับถือท่านมาก  คอยเป็นห่วงเป็นใยและแนะนำในสิ่งที่ดีงาม  ผมจึงเคารพและถือว่าเป็นญาติผู้หนึ่ง” 

            สุภาพสตรีสูงวัยอีกคนหนึ่งที่คอยเป็นเงาตามตัว  คือ  คุณป้าสุรเด่น  พลอยประเสริฐ  แห่งกิจการในเครือสวนรัก  เล่าให้ฟังด้วยความรักและอาลัยว่า “พี่นงค์เป็นเพื่อนคู่หู  เป็นที่ปรึกษา  ร่วมทุกข์ร่วมสุขในทุกเรื่อง  ในตอนหลังส่วนมากจะพากันไปวัด  เวลาโทร.  ไปหาหลายหน  พอรับสายจะได้รับการต่อว่าต่อขานว่า  อี่นายอั๋นนี่  (โอ๊ย...แม่คนนี้)  ไปไหนมา โทร. มาหลายครั้งแล้ว  เอามานะค่าโทรศัพท์  ต่อไปนี้จะไม่ได้ยินเสียงต่อว่าต่อขานอีกแล้ว”

 

(แม่ถ่ายกับหลวงปู่อ่อน ที่วัดป่าอุดมสมพร ต้นปี พ.ศ. 2520)

 

(28 พฤษภาคม 2536 นำรัฐท่านนายรัฐมนตรีไปกราบนมัสการหลวงปู่เทสก์ ณ วัดถ้ำขาม)

(29 พฤษภาคม 2536 นำรัฐมนตรีอุตสาหกรรม พลตรีสนั่น ขจรประศาสตร์ และคณะกราบนมัสการหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)

 

(นำอาหารขึ้นวัดถ้ำขาม ถวายจังหันหลวงปู่ผั้น อาจารโร)

 

(ต้อนรับนายกชวน หลีกภัย ที่พรรคประชาธิปัตย์ สาขาสกลนคร 24 พฤษภาคม 2536)

 

  

            บรรดาแม่ชีแห่งวัดถ้ำขาม  อำเภอพรรณานิคม  เช่น  แม่ชีลุน  แม่ชีต๋อย  เล่าว่า  “ท่านเป็นคนที่มีเมตตาจิตสูง  เป็นบุคคลที่หาได้ยาก  เป็นบุคคลตัวอย่าง  ขอให้อย่าได้มาเกิด  จงไปสู่นิพพานโน่น  ตอนหลวงปู่เทสก์มาพักรักษาตัวที่วัดถ้ำขาม  ท่านเป็นหลักใหญ่ของจังหวัด  เข้มแข็งทุกอย่าง  ขาดเหลืออะไรให้บอก  สอนให้รู้จักต้อนรับขับสู้ น่าเคารพเลื่อมใสมาก  ช่วงที่หลวงปู่กลับไปวัดหินหมากเป้งแล้วกลับมาถ้ำขามอีกครั้ง  พอบอกให้ทราบ ตอนนั้นนอนป่วยอยู่ ท่านดีใจมากบอกว่าเหมือนตัวลอยขึ้นเลยทีเดียว” 

           หลวงพ่อเขี่ยม  แห่งวัดถ้ำขาม  บอกว่า “แม่นงค์เป็นคนอดทน  ขนาดป่วยยังมาวัดทุกวัน  เป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดการเรื่องของหลวงปู่เทสก์  จะไม่มาวัดก็ตอนป่วยหนัก  เป็นคนดีมากๆ  สมัยหลวงปู่ฝั่นยังอยู่ก็มาประจำ” 

           ส่วน หลวงปู่เทสก์  เทสรังสี  พระเถระสายวิปัสสนาธุระ  กล่าวถึงแม่นงค์ว่า  “เป็นคนดี  อาตมาสงสาร  มาปฏิบัติยังไม่ทันนานก็ไปเสีย  เป็นคนปฏิบัติดี  ปฏิบัติชอบ  น่าชมเชยอยู่...” 

           ชีวิตของคุณแม่อนงค์ได้สิ้นอณูสุดท้ายแล้วสังขารร่างกายจากไป  แต่คุณงามความความดีที่ทำเอาไว้ยังคงตราตรึงอยู่ในความรู้สึกของคนทั่วไป  นอกจากท่านจะเกิดมาเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่  เป็นภริยาที่ดีของสามี  เป็นแม่ที่ดีของลูกๆแล้ว  ท่านยังเป็นนักต่อสู้ชีวิตผู้ยิ่งใหญ่  ที่มีความทรหดอดทนและแกร่งกล้า  จนพลิกตำนานจากอนาคตน่าเป็นหญิงชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง  กลายมาเป็นหญิงเหล็กผู้ต่อสู่ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ  เพื่อสร้างชีวิตและอนาคตให้บุตรหลาน  จนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม  นอกจากนี้ยังเป็นนักการเมืองที่ยึดมั่นในแนวทางมวลชน  เสียสละทั้งแรงกายแรงใจและกำลังทรัพย์  เพื่อให้มวลมหาชนอยู่ดีมีสุข  ในขณะที่ยังเป็น ส.ส. หรือแม้จะเลิกราไปแล้วยังเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่เสียสละเพื่อพรรคและสำคัญที่สุดคือ  เป็นพุทธศาสนิกชนที่ปฏิบัติดี  ปฏิบัติชอบทั้งอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา   

            รางวัลยิ่งใหญ่ที่แม่อนงค์จะต้องภาคภูมิใจคือความรักความศรัทธาจากญาติพี่น้อง  จากบุคคลทั่วไปและจากคนสำคัญระดับประเทศ   

            นั่นคือผลของการทำความดี  และสิ่งนี้ใช่หรือไม่ที่เป็นสัจธรรมตลอดกาล   

            ชีวิตบั้นปลายท่านได้สร้างกุฏิที่ถ้ำขาม  เพื่อจะใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรมะอย่างสงบ  สุข  แต่ก็เป็นสุขยิ่งกว่า  เมื่อได้จากโลกแห่งความสับสนวุ่นวายนี้ไปได้ เพราะอย่างไรก็ถึงพร้อมแห่งทานบารมี  ศีลบารมี  ปัญญาบารมี  วิริยะบารมี  ขันติบารมี  เมตตาบารมี  อุเบกขาบารมี  ซึ่งยากที่จะหาใครเสมอเหมือน 

            เมื่อทุกอย่างมีเริ่มต้นก็ต้องมีสิ้นสุด  ชีวิตคนเราก็เหมือนกัน  มีข้อสรุป  คือเกิดมาก็ต้องตาย แตกต่างกันตรงที่ตอนยังมีชีวิตอยู่ว่า  ใครมีเป้าหมายในการใช้ชีวิตอย่างไร  สำหรับคุณแม่อนงค์  มีเป้าหมายในการใช้ชีวิตเพื่อคนอื่น  มีความสุขกับการได้ทำงานหนักภาคภูมิใจกับหยาดเหงื่อแรงกายที่ได้สร้างตัวมาด้วยความเหนื่อยยาก  ดีใจที่ได้ทำประโยชน์ให้กับสังคมมนุษย์  เป็นสุขใจอย่างยิ่งที่ปฏิบัติตัวเป็นพุทธบริษัทที่ดีคนหนึ่ง 

                          สมแล้วกับคำกล่าวขานที่ว่า.... สตรีเหล็กชาวภูไทสกลนคร

 

                   ที่มา :   หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ  นางอนงค์  ตงศิริ  
                              ณ ฌาปนสถาน
วัดป่าสุทธาวาส ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง
                              จังหวัดสกลนคร  
วันเสาร์ที่  25 ธันวาคม พ.ศ. 2536  
                             
หน้า 61 - 66.

 

(ขอได้รับความขอบคุณและปรารถนาดี จาก www.kkppn.com)

 



Online: 1 Visits: 260,220 Today: 2 PageView/Month: 2,198