เกรียงไกร ปริญญาพล http://www.kkppn.com

 

 

พระยาประจันตประเทศธานี 
( โง้นคำ  พรหมสาขา    สกลนคร )
 


                                                                                     โดย 

                                                                       เกรียงไกร   ปริญญาพล 

 

 

 


              เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๙  มกราคม  พ.ศ. ๒๓๘๒  ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ ๓  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  แห่งบรมราชจักรีวงศ์  ณ  เขตตำบลธาตุเชิงชุมหรือเขตเทศบาลเมืองสกลนครในปัจจุบันนี้  ได้รับราชการมาตามลำดับจนถึง  พ.ศ. ๒๔๓๐  ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์และราชทินนามเป็น  “ พระยาประจันตประเทศธานีศรีสกลานุรักษ์ ”  ตำแหน่ง  เจ้าเมืองสกลนคร  ซึ่งราชทินนามคำว่า  “ ประจันตประเทศธานี ”  มีความหมายหรือแปลว่า  “ ผู้เป็นใหญ่ในชายแดน ”

 



เจ้าคุณจันต์ถวายปูชนียวัตถุ

  


            คติความเชื่อเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทนั้น  เชื่อกันว่ารอยพระพุทธบาทเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า   จะปรากฏตามสื่อสารมวลชนต่าง ๆ  เป็นระยะเสมอมาว่า    ได้มีการค้นพบรอยพระพุทธบาทในที่ต่างๆ   ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้นโดยวัสดุต่าง ๆ  แต่หลักใหญ่ๆ  ของการสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองไว้ก็คงไม่พ้นไปจากความเชื่อของกลุ่มคนในชุมชนที่ต้องการจะแสดงถึงความศรัทธาในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า    เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า    เป็นสิ่งที่ระลึกถึงพุทธองค์   และความเชื่อต่าง ๆ

 

            ท่านเจ้าคุณจันต์   เป็นพุทธศาสนิกชนที่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั่น  ได้สร้างบุญบารมีด้วยการสร้างวัดอุทิศถวายไว้ในบวรพุทธศาสนาถึง 6 วัด   จะปรากฏรายละเอียดในบทความท่านเจ้าคุณจันต์ (5)  แต่ในบทนี้   ผู้เขียนขอนำเสนอท่านผู้ที่สนใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเมืองสกลนคร    และในบทบาทของท่านเจ้าคุณจันต์ที่มีต่อสังคม  หลายท่านคงจะเคยไปกราบนมัสการองค์พระธาตุเชิงชุมและหลวงพ่อพระองค์แสนที่วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร  ซึ่งเป็นวัดพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหารและเป็นวัดประจำจังหวัดสกลนคร    เมื่อเลี้ยวผ่านซุ้มประตูเรือนแก้วชั้นในเข้าไป    ด้านซ้ายมือจะเป็นพระอุโบสถหลังเก่า  มีลักษณะชั้นเดียว  โปร่ง  เป็นศิลปอีสานประยุกต์เวียดนาม   เข้าไปภายในพระอุโบสถ   เบื้องหน้าของพระพุทธรูปประจำพระอุโบสถซึ่งมีเป็นจำนวนมากและหลายขนาด   จะปรากฏรอยพระพุทธบาทจำลองวางอยู่    รอยพระพุทธบาทจำลองนี้สร้างด้วยหินทราย   มีขนาดความกว้างวัดถึงขอบนอกประมาณ   80  เซนติเมตร    ความยาววัดถึงขอบนอกประมาณ  200  เซนติเมตร    ความหนาของขอบ   16.5  เซนติเมตร   ลึกจากขอบลงถึงพื้นด้านในประมาณ  16.5 เซนติเมตร   ฝีมือช่างในการแกะสลักสวยงามพอควร

 

 

(พระอุโบสถหลังเก่า)

 

 

 


(รอยพระพุทธบาทจำลองภายในพระอุโบสถหลังเก่า)

 

            ส่วนวงกลมภายในรอยพระพุทธบาท  คือ  ธรรมจักร   ปริศนาธรรม   เป็นเครื่อง หมายคำสอนของพุทธองค์หรืออาจมีนัยความหมายถึงล้อหมุนจากความเสื่อมไปหาความเจริญหรือจากกิเลสไปสู่ความหลุดพ้น   ผู้เขียนเข้าใจว่าอาจยังไม่มีท่านผู้ใดทราบว่ารอยพระพุทธบาทจำลองสร้างมาแต่เมื่อใด   ผู้ใดหรือคณะบุคคลใดเป็นผู้สร้าง  แท้จริงแล้วรอยพระพุทธบาทจำลองนี้  พระยาประจันตประเทศธานี  (โง่นคำ  พรหมสาขา ณ สกลนคร)  เจ้าเมืองสกลนคร  เป็นผู้สร้างและได้ถวายแด่องค์พระธาตุเชิงชุม     และเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์เมื่อปีระกา  พ.ศ. 2440   มีหลักฐานในบันทึกเหตุการณ์บ้านเมืองสกลนคร  ฉบับสำนักหลวงพิจารณ์อักษร  (เส  พรหมสาขา ณ สกลนคร)  หน้าที่  51   เดิมเข้าใจว่าคงจะวางไว้หน้าประตูทางเข้าองค์พระธาตุเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะบูชา  แต่เมื่อกาลเวลาผ่านมานานการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพภายในวัดมีมากขึ้น   จึงได้เคลื่อนย้ายมาวางไว้ในพระอุโบสถหลังเก่า   ผู้เขียนสันนิษฐานว่าศิลาแลงที่นำมาสลักเป็นรอยพระพุทธบาทจำลองนี้   น่าจะนำมาจากภูพานห่างจากตัวเมืองสกลนครไปทางทิศตะวันตกประมาณ  10  กว่ากิโลเมตร       และช่างท้องถิ่นในเมืองสกลนครเป็นผู้แกะสลัก   ปริศนาเกี่ยวกับปูชนียวัตถุที่สำคัญของเมืองสกลนครที่สำคัญชิ้นนี้   ผู้เขียนเห็นว่าควรนำเสนอเปิดเผยต่อสังคม  เพื่อท่านที่เป็นบุตรหลานสืบสายสกุลของท่านเจ้าคุณจันต์   และผู้ที่สนใจทั่วไปควรรับทราบ   ผู้เขียนอายุยังน้อย    มีความรู้และความเข้าใจในพระพุทธศาสนาจำกัดมาก    การถ่ายทอดวิชาความรู้ในด้านพระพุทธศาสนาอาจไม่ดีพอ   ประกอบทั้งในโลกออนไลน์ผู้เขียนเห็นด้วยความเคารพว่าไม่ควรที่จะใช้ภาษาในทางวิชาการจนเกินไป

   

            ดังนั้นในบทนี้    ผู้เขียนจึงขอเรียนท่านทั้งหลายเพื่อโปรดทราบโดยทั่วกันว่า   ท่านเจ้าคุณจันต์เป็นผู้สร้างรอยพระพุทธบาทจำลองถวายแด่องค์พระธาตุเชิงชุมครับ. 


 

 

         อ้างอิง  :  บันทึกเหตุการณ์บ้านเมืองสกลนคร  ฉบับสำนักหลวง
 
                        พิจารณ์อักษร  ( เส  พรหมสาขา ณ สกลนคร )
   

                       
หน้า 51
 
(คลิกดูภาพประกอบ) 

 

 

(ขอได้รับความขอบคุณและปรารถนาดีจาก  www.kkppn.com) 



 



Online: 1 Visits: 261,104 Today: 7 PageView/Month: 795